ความเสี่ยงใหม่ทางการเงินโลก

10 ธันวาคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีอายุครบ 80 ปีบริบูรณ์ 2-3 ธันวาคมที่ผ่านมา ธปท. ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) จัดงานสัมมนาใหญ่ BOT-BIS Conference ฉลอง 80 ปี ธปท. ในหัวข้อ “Central Banking Amidst Shifting Ground ธนาคารกลางท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลง” มีหลายประเด็นที่เป็น “ความเสี่ยงใหม่ทางการเงิน” ที่เราต้องให้ความสนใจ ตั้งแต่ ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและจีน การแบ่งขั้วอำนาจจนเกิดกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (deglobalization) ไปจนถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)

การสัมมนาครั้งนี้ ธปท. ได้รับเกียรติจาก ผู้ว่าการธนาคารกลางทั่วโลกกว่า 10 ประเทศ บินมาร่วมเสวนา เช่น ประธานธนาคารกลางยุโรป ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, มาเลเซีย, สสป.ลาว, แอฟริกาใต้ เป็นต้น

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน จากบริบทเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจาก “เงินเฟ้อ” ที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้อง ปรับเปลี่ยนกรอบความคิด ในการดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ กระแสโลกใหม่อย่างดิจิทัล ทำให้ต้องหาสมดุลที่เหมาะสมระหว่าง การส่งเสริมนวัตกรรม และ การดูแลความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน เป็นเรื่องที่ควบคุมได้ยาก ธนาคารกลางจึงจำเป็นต้องปรับมุมมอง แนวนโยบาย และเครื่องมือ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินที่เป็นพันธกิจหลักของธนาคารกลางได้อย่างยั่งยืนต่อไปได้

ความเสี่ยงใหม่ทางการเงินโลก
ผู้ร่วมสัมมนาได้เน้นถึงความสำคัญในการดูแล “เงินเฟ้อ” ให้อยู่ในเป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจต่อสาธารณชน ผ่านการผสมผสาน นโยบายการเงิน การคลัง และอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้ง การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาสมดุลในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมเงินเฟ้อ ผู้ร่วมสัมมนายังได้พูดถึง ประเด็นภูมิรัฐศาตร์ทั้งในยุโรปและการแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน การเกิดกระแสทวนกลับของโลกาภิวัตน์ (deglobalization) โดยผู้ร่วมเสวนาเสนอให้ องค์กรระหว่างประเทศ มีบทบาทสนับสนุน ความร่วมมือระหว่างประเทศและโลกาภิวัตน์ (globalization) มากขึ้น

ประเด็นใหม่ที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ที่จะ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยผู้สัมมนาสนับสนุนให้ ธนาคารกลาง เพิ่มบทบาท ในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเร่งด่วน ครอบคลุมทั้ง นโยบายการเงินเพื่อดูแลผลกระทบของ climate change ต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และ นโยบายดูแลเสถียรภาพของสถาบันการเงินและระบบการเงิน เช่น การกำหนดแนวทางการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานการวิเคราะห์สถานการณ์และทดสอบภาวะวิกฤติด้านสภาพภูมิอากาศต่อภาคการเงิน รวมทั้งการส่งเสริมให้สถาบันการเงินเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม

เรื่องที่ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ 10 กว่าประเทศเสวนากัน ล้วนเป็น ความเสี่ยงใหม่ ของ เศรษฐกิจการเงินโลก ที่ ธนาคารกลางจะต้องเข้าไปมีบทบาทในอนาคต รวมทั้ง เป็นความเสี่ยงใหม่ของผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs และ ประชาชนทั่วไป ที่จะต้องมีส่วนร่วม

ผมได้รับเชิญจาก ผู้ว่าการ ธปท. ไปรับฟังด้วย ก็เก็บข้อมูลบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง เศรษฐกิจการเงินโลกหลังโควิด ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ การแข่งขันเชิงยุทธศาตร์และภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่าง จีน สหรัฐฯ ยุโรป และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ล้วนเป็น “ความเสี่ยงใหม่” ที่ทุกคนต้องเผชิญในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : inetsynth.com